คู่มือการซื้อขายโดเมน สำหรับผู้เริ่มต้นซื้อขาย

คู่มือการซื้อขายโดเมน สำหรับผู้เริ่มต้นซื้อขาย

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับการซื้อขาย สินค้า/บริการ มามากมายหลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่ซื้อขายกันก็จะเป็นพวกสิ่งของทั่วไป รถยนต์ ที่ดินหรือแม้กระทั่งซอฟต์แวร์ที่ดูจะมีความเป็นเทคโนโลยีขึ้นมาหน่อย แต่รู้ไหมว่า มีสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่ปัจจุบันมีการซื้อขายกันอย่างต่อเนื่องและมูลค่าของมันก็สูงจนเกินความคาดหมายแถมยังสามารถเก็บไว้เก็งกำไรได้อีกด้วย สิ่งนั้นก็คือ การซื้อขายโดเมน นั่นเอง สงสัยไหมว่าทำไมบางโดเมนถึงมีราคาสูงลิ่ว? หรืออยากรู้วิธีสร้างรายได้จากเพียงแค่ชื่อโดเมนสั้นๆ สักตัวไหม? บทความนี้จะทำให้คุณกระจ่างแจ้งถึงเหตุผลที่การขายโดเมนสามารถทำรายได้มหาศาล รวมถึงขั้นตอนการเริ่มซื้อขายโดเมนสำหรับผู้เริ่มต้น

ทำความรู้จักกับโดเมน

ก่อนอื่น หากเราจะเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับอะไรสักอย่าง เราก็ควรรู้จักสิ่งนั้นให้ลึกซึ้งก่อน เพื่อที่จะได้ตีมูลค่าของมันได้อย่างถูกต้องและเข้าใจแนวโน้มของตลาดที่เรากำลังจะซื้อขาย ซึ่งในที่นี้ ก็จะอธิบายว่า โดเมนคืออะไร? มีกี่ประเภท?

โดเมนคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ

  • หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ โดเมน คือ ชื่อเรียกของบ้านหลังหนึ่งในโลกออนไลน์เป็นที่อยู่ของเว็บไซต์หนึ่ง ซึ่งเอาไว้ใช้เรียกให้ติดหู แทนที่เลข IP Address ที่ยาวเหยียด แถมจำยาก เราก็แค่จำชื่อโดเมนสั้นๆ ก็สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ได้
  • โดเมนแบ่งเป็นชื่อ (ชื่อเว็บไซต์) และนามสกุล (เช่น .com, .net, .org) แต่ละนามสกุลจะมีความหมายเฉพาะของมัน ซึ่งเราจะไปเจาะลึกกันต่อไป
  • เหตุผลว่าทำไมชื่อโดเมนจึงมีความสำคัญ…
  • จดจำง่าย : โดเมนคือชื่อที่อยู่เอาไว้เรียกเว็บไซต์ของเรา แทนการจำเลข IP Address ยาวๆ
  • ความน่าเชื่อถือ : การมีชื่อโดเมนที่ดีหรือสอดคล้องกับองค์กรนั้นๆ จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือได้อย่างมาก
  • กระตุ้น SEO : ชื่อโดเมนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือองค์กรนั้นๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการติดอันดับการค้นหาจากเหล่า Search Engine ทั้งหลาย
  • สร้างรายได้ : การมีชื่อโดเมนที่จำง่าย ดูน่าสนใจ สามารถเก็งกำไรได้มหาศาลหากมีผู้ต้องการที่จะซื้อมัน
  • การตลาด : การทำการตลาดเพื่อกระตุ้นการขายจะทำได้ง่ายขึ้นเท่าตัวหากเรามีชื่อโดเมนที่น่าสนใจ

อยากมีโดเมนของตัวเอง ทำยังไง?

  • เมื่อรู้จักโดเมนแล้ว ทีนี้เราจะสามารถมีโดเมนของตัวเองได้ยังไง? ขั้นตอนการจดทะเบียนโดเมนนั้นสั้นๆ ง่ายๆ ดังนี้
  • เลือกชื่อโดเมนที่ต้องการ ตรวจสอบว่าชื่อดังกล่าวยังว่างอยู่หรือมีการใช้งานแล้วหรือไม่? เพื่อหลีกเลี่ยงปัญาด้านลิขสิทธ์ในอนาคต ซึ่งมีหลายเว็บไซต์ที่ให้บริการตรวจสอบชื่อโดเมน เช่น
  • Whois Domain
  • GoDaddy
  • P&T Hosting
  • จากนั้นเลือกผู้ให้บริการในการจดโดเมน และทำการจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีเพื่อรักษาสิทธิ์การใช้งานชื่อโดเมนนี้ ตัวอย่างผู้ให้บริการจดโดเมน เช่น
  • GoDaddy
  • Dotsiam
  • Hostatom
  • เมื่อชื่อโดเมนของเราได้รับการจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เว็บไซต์ของเราก็เป็นอันใช้ได้ ในการประกอบธุรกิจหรือกิจกรรมตามความต้องการของเรา

ขั้นตอนการเป็นเจ้าของโดเมน

ประเภทของโดเมน

  • โดเมนสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
  • นามสกุล : เป็นส่วนสุดท้ายของชื่อโดเมน เช่น .com, .net, .org, .th เป็นต้น
  • ชื่อโดเมน : ส่วนนี้ก็คือชื่อเว็บไซต์หรือชื่อแบรนด์ที่เราอยากตั้งนั่นเอง เช่น google
  • โดเมนย่อย : ส่วนนี้คือหน้าเว็บเพจย่อยของเว็บไซต์ เหมือนเป็นฟีเจอร์หนึ่งของเว็บไซต์นั้น เช่น blog.ABC.com ส่วนของ blog คือโดเมนย่อย เป็นหน้าสำหรับเขียนบล็อกในเว็บไซต์ ABC
  • จากที่ได้เกริ่นนำไปก่อนหน้านี้ว่าโดเมนประกอบไปด้วยชื่อและนามสกุล ซึ่งนามสกุลนี่แหละจะเป็นตัวบอกความแตกต่างของประเภทโดเมน
  • นามสกุลที่เรามักจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี พวก .com .org ชื่อเหล่านี้มันมีความหมายบ่งบอกอะไรบ้าง?
  • .com : ใช้สำหรับเว็บไซต์เชิงพาณิชย์และทั่วไป
  • .org : ใช้สำหรับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร สถาบันการศึกษา และโครงการชุมชน
  • .net : เดิมทีตั้งใจให้ใช้กับองค์กรด้านเครือข่าย แต่ปัจจุบันใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ออนไลน์
  • .edu : สำรองไว้สำหรับสถาบันการศึกษาที่ได้รับการรับรอง โดยเฉพาะวิทยาลัยและมหาวิทยาลัย
  • .gov : สำรองไว้สำหรับหน่วยงานและองค์กรของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ
  • .info : ใช้สำหรับเว็บไซต์ให้ข้อมูล และสามารถลงทะเบียนได้โดยไม่มีข้อจำกัด
  • .app : ตั้งใจให้ใช้กับนักพัฒนาแอปและบริการที่เกี่ยวข้อง
  • .co : เว็บไซต์ภายในองค์กรใช้สำหรับองค์กรที่เป็นบริษัท
  • .th : นามสกุลเว็บไซต์สำหรับใช้ในพื้นที่ประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศไทย = th
  • มีโดเมนอีกชนิดหนึ่งที่เราต้องรู้เพราะมีความสำคัญไม่แพ้กันก็คือ โดเมนประเภท Internationalized Domain Names หรือโดเมนที่ใช้ตัวอักษรของภาษาอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ เช่น ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ตัวอย่างเช่น www.เว็บครู.ไทย
  • จะเห็นได้ว่าชื่อและนามสกุลโดเมนนั้นมีความหลากหลายตามความต้องการใช้งาน ซึ่งไม่แปลกใจเลยว่าทำไม โดเมนเหล่านี้จึงสามารถซื้อขายแถมเก็งกำไรได้อีก โดยเฉพาะ นามสกุล .com ที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลกตอนนี้

ทำไมต้องซื้อขายโดเมน?

จินตนาการว่าหากเราอยากมีบ้านหลังหนึ่งหรือสร้างบ้านสักหลังสิ่งแรกๆ ที่เราต้องทำคืออะไร? แน่นอน การซื้อที่ดินคือคำตอบอันดับต้นๆ เหมือนกันกับการซื้อขายโดเมนหากเราต้องการทำเว็บไซต์อะไรสักอย่างหนึ่ง การมีโดเมนเปรียบเสมือนว่าเรามีพื้นที่ของเว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งมันมีความสำคัญทางการตลาดและปัจจัยอื่นๆ ต่อ ธุรกิจหรือองค์กรอย่างแน่นอน

สร้างแบรนด์ส่วนตัวหรือธุรกิจ

  • การมีชื่อโดเมนที่เป็นเอกลักษณ์ช่วยสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องการสร้างตัวตนของแบรนด์ขึ้นมา ชื่อเมนเปรียบเสมือป้ายร้านค้า ป้ายที่อยู่ บนโลกออนไลน์
  • โดเมนที่สอดคล้องกับชื่อแบรนด์จะทำให้เว็บไซต์ดูน่าเชื่อถือและเป็นมืออาชีพ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมในเรื่องของ SEO เหมือนที่ได้พูดไปตอนต้น
  • เช่น ถ้าคุณขายเสื้อผ้าเด็ก อาจจะเลือกโดเมนเป็น babyclothes.com ซึ่งสั้น ง่าย และตรงกับธุรกิจของเรา และมีโอกาศที่ผู้คนจะชื่นชอบและค้นหาธุรกิจของเราได้ง่าย

ป้องกันการปลอมแปลง

  • การจดทะเบียนโดเมนยังช่วยป้องกันการปลอมแปลงหรือการใช้ชื่อที่คล้ายคลึงกับแบรนด์ของเรา ซึ่งปัญหานี้อาจจะทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์เราถูกทำลายทันที ซึ่งกรณีนี้มีข่าวความเสียเป็นตัวอย่างมากมาย
  • การจดชื่อโดเมนไม่ได้เพียงป้องกันธุรกิจของเราจะถูกปลอมแปลงเท่านั้น แต่ยังป้องกันไม่ให้ธุรกิจเราไปใช้ชื่อโดเมนซ้ำกับคนอื่น ด้วย เพราะก่อนจะใช้โดเมนได้ ก็ต้องตรวจสอบชื่อโดเมนว่ายังไม่ได้ใช้งาน
  • ดังนั้นการซื้อขายโดเมนจึงเปรียบเหมือนการซื้อขายทรัพย์สินอย่างหนึ่ง ที่มีความคุ้มครองจากกฎหมายที่ถูกต้อง ป้องกันการขโมย การลอกเลียนแบบ

สร้างรายได้จากการขายต่อ

  • เชื่อไหมว่าชื่อโดเมนนั้นสามารถเก็งกำไรและขายต่อในราคาที่สูงขึ้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้สามารถสร้างรายได้เสริมได้
  • โดเมนที่สั้น จำง่าย และเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต มักจะมีความต้องการสูง และมีโอกาศเปิดกว้างในการขายชื่อโดเมน ซึ่งเราจะเจาะลึกกันในส่วนของกลยุทธ์การซื้อขายต่อไป
  • ปัจจุบันหนึ่งในงานเสริมที่คนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจทำ ก็คือการคิดชื่อโดเมนและขายหรือซื้อโดเมนที่คิดว่าสามารถเพิ่มมูลค่าในอนาคตเพื่อเก็งกำไร

การลงทุนระยะยาว

  • อย่างที่กล่าวไป โดเมนสามารถเป็นการลงทุนที่ดีในระยะยาว เช่นเดียวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่เป็นอสังหาริมทรัพย์บนโลกออนไลน์ โดเมนที่มีชื่อที่ดีและเกี่ยวข้องกับเทรนด์ธุรกิจที่กำลังเติบโต มักจะเพิ่มมูลค่าเมื่อเวลาผ่านไป

ขั้นตอนการเริ่มต้นซื้อขายโดเมน

หากใครที่กำลังเริ่มที่จะสนใจในการซื้อขายโดเมน ส่วนหัวข้อนี้จะเป็นเหมือนไกด์นำทางเพื่อดูเป็นแนวทางในการหารายได้เสริมจากการขายชื่อโดเมน ซึ่งอาจจะไม่ได้เจาะลึกแบบละเอียดทุกกระบวนการ แต่จะเป็นทางหลักให้ผู้อ่านได้มีไอเดียไปต่อยอดในการซื้อขายโดเมนกันเอง

เลือกตลาดซื้อขายโดเมน

  • ก่อนจะเริ่มต้นซื้อขายอะไรสักอย่าง เราควรหาแหล่งสำหรับซื้อขายสิ่งนั้นก่อน โดเมนก็เช่นกัน เราต้องศึกษาหาข้อมูลว่า โดเมนนั้นซื้อขายกันที่ไหนบ้าง และนี่ก็เป็นตัวอย่างแหล่งตลาดซื้อขายโดเมนที่น่าสนใจ
  • GoDaddy : หนึ่งในผู้ให้บริการโดเมนรายใหญ่ที่สุดในโลก มีตลาดซื้อขายโดเมนที่ครอบคลุมหลากหลาย ทั้งซื้อทั้งขายในที่เดียว
  • Namecheap : แหล่งซื้อขายโดเมนที่มีราคาเหมาะสม เต็มไปด้วยโปรโมชั่น ส่วนลด มากมาย มีโดเมนไว้เหมือนเป็นสินค้าซื้อขายโดยเฉพาะ
  • Sedo : แหล่งซื้อขายโดเมนที่มีจุดเด่นอยู่ที่การประมูลโดเมน เป็นตลาดประมูลโดเมนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เรทราคาโดเมนในเว็บไซต์นี้ประมูลขายสูงถึง 2 ล้านดอลล่าห์เลยทีเดียว
  • Flippa : เป็นแหล่งที่รวมการซื้อขายโดเมน บริการออนไลน์ บล็อก Saas ร้านอีคอมเมิร์ซ ไว้ในที่เดียว ใครที่กำลังต้องการทำธุรกิจ เว็บนี้ตอบโจทย์ครบทุกวงจร
  • DotSiam : เป็นผู้ให้บริการจดโดเมน .th อย่างเป็นทางการของไทย มีบริการที่ครอบคลุม ทั้งการจดโดเมน การทำ SSL เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการสร้างโดเมนสำหรับคนไทย
  • Domain.com : มีบริการจดโดเมนและเว็บโฮสติ้งที่หลากหลาย เหมาะสำหรับทั้งผู้เริ่มต้นและธุรกิจขนาดเล็ก
  • P&T Hosting : ผู้ให้บริการจดโดเมนและเว็บโฮสติ้งที่มีชื่อเสียงในไทย มั่นคงและน่าเชื่อถือ มีบริการหลังการขายที่ดีเยี่ยม
  • เมื่อเจอแหล่งซื้อขายที่เราถูกใจแล้ว ทีนี้ ถามตัวเองดูว่า เราจะขายโดเมนโดยตั้งชื่อจดทะเบียนขายเองหรือซื้อโดเมนที่มีแนวโน้มเอาไว้ขายทีหลัง โดยเราสามารถทำทั้ง 2 อย่างไปพร้อมกันได้ ตามความสะดวก

วิธีการค้นหาโดเมนที่น่าสนใจ

  • ไม่ว่าคุณจะคิดชื่อโดเมนเองหรือกำลังหาชื่อที่น่าสนใจเพื่อซื้อไว้ขายในอนาคต ก็ต้องผ่านกระบวนการค้นหาชื่อโดเมนก่อน เพื่อตรวจสอบว่าโดเมนนั้นถูกใช้งานไปแล้วหรือยังพร้อมกับหาชื่อโดเมนที่น่าสนใจไปในตัว
  • วิธีการที่จะช่วยให้คุณค้นหาโดเมนที่น่าสนใจ มีแนวทางดังนี้
  • ใช้เว็บไซต์แหล่งซื้อขายนั่นแหละเป็นตัวตรวจสอบโดเมนพร้อมกับเลือกหาโดเมนที่น่าสนใจไปในตัว โดยเว็บไซต์เหล่านี้จะมีฟีเจอร์ให้ค้นหาโดเมนอยู่แล้ว
  • Research แนวโน้มคำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือคำที่มีแนวโน้มเติบโตในตลาด เพื่อค้นหาโดเมนที่ตรงกับความต้องการ ยกตัวอย่าง หากแนวโน้มการเลี้ยงแมวกำลังจะเติบโต การค้นหาชื่อโดเมนที่มีคำสัญอย่าง Cat , Kitty น่าจะมีโอกาสเติบโตทางมูลค่าได้เช่นกัน
  • อย่าลืมว่าชื่อโดเมนที่สั้นและจำง่ายมักจะมีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการ แม้จะได้คำสำคัญที่มีแนวโน้มเติบโตมาแล้ว ก็อย่าใช้คำนั้นยาวจนเกินไป
  • กรณีหากเราเจอชื่อโดเมนที่อยากซื้อเก็บไว้ ให้ใช้เครื่องมือตรวจสอบประวัติโดเมน เช่น WHOIS Lookup เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของและประวัติการใช้งานให้รอบคอบ

การประเมินราคาโดเมน

  • มีปัจจัยที่เราควรพิจารณาก่อนจะซื้อขายโดเมน เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเราโดนโก่งราคาหรือขายโดเมนในราคาต่ำเกินควร ดังนี้
  • ความยาวและความจำง่าย : โดเมนที่สั้นและจำง่ายมักจะมีมูลค่าสูง หากเราจะซื้อไว้เก็งกำไรต้องดูแนวโน้มและยอมรับกับราคาเพื่อลงทุนในอนาคต หากเราจะขายก็ต้องได้ราคาที่เหมาะสม
  • คำสำคัญที่เกี่ยวข้อง : โดเมนที่มีคำสำคัญเกี่ยวกับธุรกิจหรือแนวโน้มในตลาดมักจะมีความต้องการสูง การซื้อขายต้องอยู่ในระดับราคาที่พอเหมาะ
  • นามสกุลโดเมน : นามสกุล .com มักจะมีมูลค่าสูงที่สุด แต่ .net, .org และนามสกุลใหม่ๆ ก็มีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกันในปัจจุบัน ดังนั้น นามสกุล .com ไม่ใช่เจ้าตลาดเพียงอย่างเดียวของนามสกุลโดเมน
  • ประวัติและการใช้งานก่อนหน้า : โดเมนที่มีประวัติการใช้งานดีและไม่มีประวัติเสียหายจะมีมูลค่าสูงกว่า ยิ่งเป็นโดเมนที่จดทะเบียนแล้วปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ยิ่งมีโอกาศทำราคาสูงได้

การทำธุรกรรมและการโอนย้ายโดเมน

  • ขั้นสุดท้ายเมื่อเราเจอโดเมนที่เราอยากซื้อเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรแล้ว เราก็ต้องเริ่มซื้อขายทำธุรกรรมโอนย้ายโดเมน
  • ตอนนี้เชื่อว่า มือใหม่หลายคนคงมีความกังวลกลัวว่าจะโดนหลอก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ควรใช้บริการบุคคลที่สามในการจัดการเงินและการโอนย้ายโดเมน
  • เช่น Escrow ระบบการทำธุรกรรมผ่านตัวกลางที่จะคุ้มครองผู้ซื้อและผู้ขาย ในทุกๆ ทรัพย์สิน แน่นอนว่ารวมไปถึงชื่อโดเมนด้วย
  • การซื้อขายโดเมนเราต้องตระหนักและปฏิบัติตามนโยบายเฉพาะของผู้ให้บริการจดโดเมน
  • อย่าลืมตรวจสอบการโอนย้ายโดเมนให้เรียบร้อยหลังที่ซื้อขายเรียบร้อยแล้ว
  • ไม่ว่าจะเป็นการตั้งชื่อโดเมนเพื่อขายเองหรือซื้อชื่อโดเมนไว้เก็งกำไร สิ่งสำคัญที่ห้ามลืมเด็ดขาดคือการต่ออายุโดเมนตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อรักษาสิทธิ์ในการใช้งานโดเมนนี้

ภาพรวมขั้นตอนการซื้อขายโดเมน

กลยุทธ์สำหรับผู้เริ่มต้น

เมื่อเรารู้หลักการและแนวทาง รวมถึงขั้นตอนการซื้อขายโดเมนแล้ว มือใหม่อาจจะใช้เวลาหรือโอกาสนานหน่อยในการเริ่มต้น เพราะยังขาดประสบการณ์ ดังนั้น ทีมงานขั้นเทพจึงมีทริคเล็กๆ น้อย สำหรับมือใหม่ที่จะแนะนำเพื่อให้เปิดโอกาศสร้างรายได้ในการซื้อขายโดเมน

เลือกโดเมนให้ตรงเป้า!

  • ก่อนจะเริ่มทำการคิดชื่อโดเมนเพื่อขาย หรือ ค้นหาชื่อโดเมนเพื่อซื้อเก็บไว้นั้น เราก็ต้องมีเป้าหมายที่เราต้องการสำหรับโดเมนนั้นด้วย ว่าเราทำการคิดชื่อหรือซื้อโดเมนนี้ไว้เพื่ออะไร
  • เลือกใช้ชื่อโดเมนที่สอดคล้องกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เราสนใจ จะช่วยให้ผู้คนเข้าใจได้ทันทีว่าเว็บไซต์นั้นเกี่ยวกับอะไร
  • ตัวอย่างเช่น เราต้องการทำเว็บไซต์เกี่ยวกับท่องเที่ยวแบบครบวงจร ชื่อโดเมนควรเป็นคำที่เกี่ยวกับการผจญภัย ความสนุก เป็นต้น หลีกเลี่ยงคำที่ตรงกันข้ามจนสร้างความเข้าใจผิด
  • เลือกนามสกุลโดเมนที่เหมาะสมกับเป้าหมาย เช่น
  • .com สำหรับธุรกิจทั่วไป
  • .org สำหรับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
  • .net สำหรับบริการออนไลน์

รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

  • ดูว่าคู่แข่งของคุณใช้โดเมนแบบไหน และมีอะไรที่คุณสามารถปรับปรุงได้ เช่น การเลือกชื่อโดเมนที่มีคำสำคัญที่เกี่ยวข้องหรือมีความหมายที่ดีกว่า
  • ศึกษาคีย์เวิร์ด (KeyWord) ที่เราจะตั้งชื่อโดเมน หรือที่เราสนใจ ว่ามีการแข่งขันสูงแค่ไหน เพราะมือใหม่แนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ดุเดือดไว้ก่อน เน้นหาช่องทางสร้างรายได้และจับจุดให้ได้ก่อน
  • แต่หากต้องการลงแข่งขัน ไม่กลัวว่าจะคู่แข่งมากแค่ไหน อาวุธที่ต้องมีติดตัวคือใช้เครื่องมือค้นหาคำสำคัญ (Keyword Tool) เช่น Google Trends หรือ SEMrush เพื่อหาคำที่เกี่ยวข้อง ปริมาณการค้นหา และนำมาประยุกต์ตั้งชื่อตามไอเดียสุดบรรเจิดของเรา

สร้างแบรนด์ให้โดเมน

  • การมีตัวช่วยที่ทำให้โดเมนของเราดูแพง ดูมีราคา หนึ่งในตัวช่วยนั้นก็คือโลโก้ โลโก้ที่ดีจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ของเรารวมไปถึงโดเมนด้วย
  • ใช้เทคนิค SEO เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและอันดับในการค้นหา ทำให้โดเมนของคุณมีความน่าสนใจมากขึ้น รวมไปถึงการสร้างสโลกแกนประจำให้กับโดเมน ก็เป็นช่องทางที่น่าสนใจไม่น้อย
  • การที่เราวิจัยและค้นขว้าทางการตลาดสำหรับชื่อโดเมนมาให้เรียบร้อยนั้น เปรียบเสมือนว่าเรากำลังขายแผนงานการสร้างธุรกิจไปแล้วว่า 30% คนที่ต้องการซื้อก็ย่อมต้องการโดเมนที่ถูกออกแบบทางการตลาดที่ดีไว้แล้วแน่นอน แบบนี้จะช่วยเพิ่มการขายได้เป็นเท่าตัว

ประสบการณ์จากนักซื้อขายโดเมนที่ประสบความสำเร็จ

ก่อนจากกันไปอยากจะขอนำเสนอเรื่องราวเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่เริ่มต้นหรือคิดที่จะเริ่มต้นในการสร้างรายได้กับการซื้อขายโดเมน โดยเรื่องที่จะนำเสนอนี้ คือ ประวัติของชายที่ชื่อว่า Mike Mann

  • Mike Mann เริ่มต้นจากธุรกิจขนส่งและเทคโนโลยีทั่วไป ก่อนจะค้นพบโอกาสในการซื้อขายโดเมนเว็บไซต์ เขาซื้อโดเมน menus.com ในราคาถูกและขายทำกำไรได้มหาศาล
  • เขาซื้อโดเมน menus.com ในราคา 2,400 บาท และขายขายโดเมน menus.com ได้ราคา 850,000 บาท นั่นคือจุดเริ่มต้นทำให้เขาเล็งเห็นศักยภาพของธุรกิจประเภทนี้
  • Mike Mann ก่อตั้งเว็บไซต์ BuyDomains.com เพื่อซื้อขายโดเมนและพัฒนาซอฟต์แวร์ NameFind เพื่อค้นหาโดเมนที่มีศักยภาพในอนาคต
  • ในปี 2005 บริษัท Venture Capital ขอซื้อ BuyDomains.com ด้วยมูลค่า 2,700 ล้านบาท เงินส่วนนี้ Mike Mann นำไปลงทุนในธุรกิจต่างๆ เช่น
  • SEO.com: บริการออกแบบเนื้อหาเว็บไซต์
  • Phone.com: บริการโทรศัพท์และวิดีโอคอล
  • ในปี 2007 เขากลับมาทวงบัลลังค์ของเขาคืน Mike Mann กลับมาสู่วงการโดเมนอีกครั้ง กับการก่อตั้งเว็บไซต์ DomainMarket.com
  • ฉายา Domain King ไม่เกินจริงสำหรับชายคนนี้ Mike Mann กว้านซื้อโดเมนจำนวนมากเพื่อเก็งกำไรไว้ในอนาคต
  • ปัจจุบัน DomainMarket.com มีโดเมนอยู่ในครอบครองมากว่า 2 แสนเว็บไซต์ ซึ่งบางชื่อโดเมนมีมูลค่าสูงสุดถึง 200 ล้านบาท!!!

กรณีศึกษาจาก Mike Mann ฉายา Domain King

กรณีศึกษาจาก Mike Mann ฉายา Domain King

และนี่ก็เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจของชายที่ได้รับฉายาว่า ราชาแห่งโดเมน Mike Mann ประเด็นสำคัญคือการมองเห็นภาพของธุรกิจได้ก่อน ใครมองออกว่าอะไรที่ทำเงินได้ก่อน เขาก็มีโอกาสที่จะทำมันก่อนคนอื่น จนกลายเป็นเจ้าตลาดในวงการนั้นๆ

สรุป

การซื้อขายโดเมนเป็นโอกาสทำเงินใหม่ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคย แต่มันกลับมีมูลค่ามหาศาลและมีโอกาสเก็งกำไรสูง โดเมนคือชื่อที่อยู่ของเว็บไซต์ที่ช่วยให้เข้าถึงเว็บไซต์ได้ง่ายและมีความสำคัญต่อการสร้างแบรนด์ การตลาด และ SEO การเริ่มต้นทำการซื้อขายโดเมนต้องรู้จักประเภทของโดเมน การจดทะเบียน การประเมินราคาและวิธีการซื้อขาย รวมถึงการเลือกตลาดซื้อขายที่เหมาะสม เช่น GoDaddy, Namecheap, และ Sedo การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการเลือกโดเมนและการใช้เครื่องมือค้นหาอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จในธุรกิจนี้เหมือนกับตัวอย่างของชายที่ชื่อว่า Mike Mann ไม่แน่ King of domain คนต่อไปอาจจะเป็นคุณก็ได้…